สวัสดีค่ะ

ศิมาพร เพ็งสาเกษ สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยินดีต้อนรับนะค่ะ ^_^

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

การจัดการศึกษาปฐมวัย


การจัดการศึกษาปฐมวัย  หมายถึง  การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปี (5  ปี  11 เดือน  29 วัน )  ซึ่งการจัดการศึกษาดังกล่าวจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากระดับอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญต่อการวางรากฐานบุคลิกภาพและการพัฒนาทางสมอง  การจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปหลายชื่อ  ซึ่งแต่ละโปรแกรมก็มีวิธีการและลักษณะในการจัดกิจกรรมซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยพัฒนาเด็กในรูปแบบต่าง ๆ กัน
            การจัดการศึกษาปฐมวัยควรมีส่วนช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างเต็มที่  ซึ่งแนวคิดในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในวัยนี้ทุกรูปแบบควรมีส่วนสำคัญดังที่มาสโซเกลีย (Massoglia. 1977 : 3 – 4 )  กล่าวเอาไว้ ดังนี้
            1.  เป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุกด้าน  นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเริ่มเข้าเรียนในระดับโรงเรียน
            2.  วางพื้นฐานทางสุขภาพอนามัยให้กับเด็กตั้งแต่ต้นรวมทั้งเด็กที่มีข้อบกพร่องต่าง ๆ
            3.  สิ่งแวดล้อมทางบ้านควรมีส่วนช่วยให้เด็กเจริญเติบโต และพัฒนาในทุก ๆ ด้าน
4.  พ่อแม่ควรเป็นครูคนแรกที่มีความสำคัญต่อลูก
            5.  อิทธิพลจากทางบ้านควรมีผลต่อกระบวนการในการพัฒนาเด็ก

ความหมายของเด็กปฐมวัย

                เด็กปฐมวัย (Early  Childhood)  เป็นคำที่เราใช้เรียกเด็กตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึง 6 ปี  ซึ่งอยู่ในวัยที่คุณภาพของชีวิตทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม และสติปัญญากำลังเริ่มต้นพัฒนาอย่างเต็มที่ (Massoglia.1977 : 3) ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการวิจัย การจัดบริการศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.2522 : 8) ได้ระบุเอาไว้ในรายงานผลการวิจัยดังกล่าวว่า เด็กปฐมวัยหมายถึง
                1. เด็กที่อยู่ในศูนย์โภชนาการเด็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือที่เรียกว่าศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน
                2. เด็กที่เรียนในชั้นอนุบาล 1 และ 2 ในโรงเรียนอนุบาลของรัฐบาลและเอกชน รวมทั้งเด็กที่เรียนในชั้นอนุบาล 1 และ 2 ในโรงเรียนอื่นใดที่เปิดชั้นอนุบาล 1 และ 2 หรือชั้นเด็กเล็กเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ซึ่งโดยทั่วไปเด็กจะมีอายุประมาณ 3 – 6 ปี